กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกำหนดเป้าหมายเพิ่มจำนวนบุคลากรที่ออกไปปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมและชุมชนเป็น 1,400 คน ในปี 2568
การสนับสนุน Brain Circulation & Talent Mobility
ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนา รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ไม่ว่าจะเป็น การร่วมพัฒนาบัณฑิตให้มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม หรือการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาให้สามารถแก้ปัญหาหรือเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ซึ่งมหาวิทยาลัยราชมงคลถือเป็นหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลดังกล่าว
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จัดการศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง โดยเปิดการเรียนการสอนในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโทและระดับปริญญาเอก ซึ่งเปิดการเรียนการสอนรองรับการศึกษาต่อของผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชนและการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง มีวิทยาเขตรวม 36 วิทยาเขต ครอบคลุมเขตพื้นที่ 6 ภูมิภาค จำนวน 23 จังหวัด โดยมีบุคลากรสายวิชาการ 7,061 คน บุคลากรสายสนับสนุน 6,442 คน จำนวนนักศึกษารวม 133,055 คน และสามารถผลิตบัณฑิตเฉลี่ยต่อปี 34,000 คน ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสายวิชาชีพ ภายใต้แนวคิด “บัณฑิตนักปฏิบัติ” ให้สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อยกระดับ สร้างมาตรฐาน แก้ปัญหาเชิงเทคนิคตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและชุมชน โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและบริการวิชาการที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง (Practical research)

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง มีการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมทั้งในรูปแบบของการวิจัยพัฒนา การเคลื่อนย้ายบุคลากรผู้มีความสามารถ การให้คำปรึกษา การจัดฝึกอบรม และการจัดการเรียนการสอนร่วม ในรูปแบบสหกิจศึกษา Tailor made course (TM15) และ Work Integrated Learning (WIL) โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 5 แห่ง ได้แก่ มทร.ธัญบุรี, มทร.สุวรรณภูมิ, มทร.ล้านนา, มทร.อีสาน และ มทร.กรุงเทพ ได้นำร่องการเคลื่อนย้ายบุคลากรออกไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ ผ่านโครงการ Talent mobility ซึ่งมีบุคลากรที่เคลื่อนย้ายไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ จำนวน 220 คน และพัฒนาผู้ช่วยวิจัยในกลุ่มนักศึกษา จำนวน 213 คน (ระดับปริญญาตรี 199 คน ระดับปริญญาโท 11 คน และระดับปริญญาเอก 3 คน) ผ่านโครงการวิจัย/พัฒนา และแก้ปัญหาเชิงเทคนิค จำนวน 137 โครงการ โดยมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 134 แห่ง และต่อมาได้มีการพัฒนาสิ่งสนับสนุนที่เอื้อให้บุคลากรเคลื่อนย้ายไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการได้สะดวกมากขึ้น ได้แก่ ปรับปรุงกฏระเบียบให้เอื้อต่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรไปปฏิบัติงานในองค์กรภายนอก, รวบรวมข้อมูลผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรม, กำหนดประเภทของงานที่อนุญาตให้บุคลากรไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ, บูรณาการการทำงานของบุคลากรในสถานประกอบการกับหน่วยงานต้นสังกัด เช่น การเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา การนำนักศึกษาไปฝึกงานและสหกิจศึกษาในสถานประกอบการ ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการดังกล่าวพบว่ามีข้อจำกัดในการคัดเลือกและเตรียมความพร้อมบุคลากรที่จะออกไปปฏิบัติงานร่วมกับสถานประกอบการ ทาง มทร. จึงได้ดำเนินโครงการ TM academy ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบในการอบรมความรู้พื้นฐานแก่นักวิจัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและบุคลากรจากสถานประกอบการ และส่งเสริมนักวิจัยที่ผ่านการอบรมและมีศักยภาพออกไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์วิจัยพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน (Mentor) และถอดบทเรียนชุดองค์ความรู้การออกไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่สู่ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ จนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่สามารถเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยร่วมกับสถานประกอบการได้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการยกระดับศักยภาพการผลิต ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการ


จากผลการเคลื่อนย้ายบุคลากรไปปฏิบัติงานร่วมกับสถานประกอบการและการจัดการเรียนการสอนร่วมกับอุตสาหกรรมที่ผ่านมานั้น พบว่า จำนวนอาจารย์ที่ออกไปปฏิบัติงานร่วมกับสถานประกอบการมีสัดส่วนน้อยมาก (ร้อยละ 3) เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องภาระงาน ทักษะการสื่อสาร ทักษะอุตสาหกรรม แรงจูงใจ เครือข่ายของหน่วยงานภายนอก และการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน นอกจากนี้กลุ่มอาจารย์ที่ออกไปปฏิบัติงานร่วมกับสถานประกอบการนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากความสัมพันธ์ส่วนตัว การต่อยอดจากสหกิจศึกษา และเครือข่ายของศิษย์เก่า อีกทั้ง การดำเนินงานที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมเฉพาะบุคลากรภายใน ขาดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในสถานประกอบการ ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างศักยภาพของมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ การขับเคลื่อนดังกล่าวจึงไม่มีความยั่งยืนและไม่มีการทำงานอย่างเป็นระบบ เนื่องจากเมื่อบุคลากรเหล่านี้หมดแรงบันดาลใจ หรือเกษียณอายุราชการ จะส่งผลให้การทำงานร่วมกับสถานประกอบการของกลุ่มมหาวิทยาลัยลดลงหรือไม่มีการทำงานร่วมอีกเลยดังนั้นกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลจึงมีการพัฒนาแพลทฟอร์ม เพื่อทำหน้าที่บ่มเพาะ สนับสนุน อำนวยความสะดวก รวบรวมบุคลากรที่มีศักยภาพ ทั้งในส่วนของบุคลากรในมหาวิทยาลัยและบุคลากรของสถานประกอบการที่มีการเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย รวมถึงการพัฒนาเส้นทางอาชีพของบุคลากรที่ชัดเจน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดยผลผลิตที่จะเกิดขึ้นจากแพลทฟอร์มและกลไกสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรผู้มีศักยภาพ (Talent Resource Management) ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลนี้ คือการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์และบัณฑิตให้ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมและชุมชน ส่งเสริมกำลังคนผู้มีศักยภาพสู่การทำงานร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของสถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชน สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการวิจัยพัฒนา และพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ผ่านกิจกรรมการเตรียมความพร้อม, การพัฒนากลไกสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากรของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลไปปฏิบัติในสถานประกอบการอย่างเป็นระบบ หลักสูตรความเป็นเลิศ (Premium Course) รวมถึงการปรับและพัฒนากลไก (Adjust and Development) ให้เข้ากับบริบทที่เหมาะสมของการทำงานแต่ละแห่ง
แพลทฟอร์มดังกล่าวมุ่งเน้นการเพิ่มจำนวนผู้มีศักยภาพให้เคลื่อนย้ายไปปฏิบัติงานร่วมกับสถานประกอบการเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งขยายขอบเขตจากอุตสาหกรรมขนาดเล็ก กลางและใหญ่ไปสู่เศรษฐกิจฐานรากเพื่อกระจายงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การพัฒนาทุกระดับ โดยในปี 2568 ได้กำหนดเป้าหมายที่จะเคลื่อนย้ายบุคลากรผู้มีศักยภาพที่ผ่านการเตรียมความพร้อม จำนวน 1,400 คน (คิดเป็น 20% ของบุคลากรสายวิชาการทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการเคลื่อนย้ายเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน 70% การจัดการเรียนการสอนร่วมอุตสาหกรรม 20% และ การพัฒนาทักษะกำลังคนในอุตสาหกรรม 10%) ผ่านเครือข่ายและความเชื่อมโยงอย่างยั่งยืนจากแพลทฟอร์มที่พัฒนาขึ้น
ที่มา: โครงการศึกษาวิจัยเชิงนโยบายการพัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการทรัพยากรผู้มีศักยภาพ (Talent Resource Management) กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ผู้แต่ง : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
Nov 17, 2021