การพัฒนา Talent Resource Management Platform ของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ

การสนับสนุน Brain Circulation & Talent Mobility

ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายกับสถานการณ์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมฉับพลัน (Disruption) ประกอบกับปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ส่งผลให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นแหล่งศูนย์รวมของทรัพยากรผู้มีศักยภาพ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงเป็นภาคส่วนสำคัญที่สามารถช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ชุมชน และภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ภาคเอกชน  ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 

Talent Resource Management Platform

มหาวิทยาลัยราชภัฏในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาท้องถิ่น เป็นตัวขับ (Driver) สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับพื้นที่และภูมิภาค โดยตลอดช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ได้ร่วมขับเคลื่อนกลไกและมาตรการในรูปแบบต่าง ๆ จากทั้งภายในและภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ดำเนินโครงการ Talent Mobility ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน ชุมชน และ SMEs ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนและ SMEs ที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด สอวช. และเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏได้ดำเนินการศึกษาและทดลองกลไกการสนับสนุนให้บุคลากรเข้าไปช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการยกระดับศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ในรูปแบบของแพลตฟอร์มการบริหารจัดการทรัพยากรผู้มีศักยภาพ (Talent Resource Management) ที่สามารถส่งเสริมและสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากรจากกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา โดยคำนึงถึงการส่งมอบคุณค่า (Value) ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความยั่งยืนและตอบเป้าหมายของแพลตฟอร์ม

ผลการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า แพลตฟอร์มควรจะมีองค์ประกอบหลักในการดำเนินการ 4 ส่วน ดังนี้

  • Data Analysis Evaluation:เป็นฟังก์ชันเก็บรวบรวมข้อมูลผู้มีศักยภาพของกลุ่มมหาวิทยาลัย
    ราชภัฏที่มีประสบการณ์ทำงานกับภาคอุตสาหกรรม/ชุมชน
  • Matching: เป็นฟังก์ชันจับคู่ความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน และสถาบันการเงิน
  • Admin: เป็นฟังก์ชันที่สนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดระบบและกลไกการใช้ประโยชน์ผู้มีศักยภาพรวมถึงการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน
  • TM Academy: เป็นฟังก์ชันสำหรับส่งเสริมการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ (New Talent) และเคลื่อนย้ายบุคลากรผู้มีศักยภาพไปปฏิบัติงานภาคเอกชน/ชุมชน (Talent Mobility)

 

กลไกการขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม

 

ภาพที่ 1 กลไกการขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม

ผลการศึกษาในเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า กลไกการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มบริหารจัดการทรัพยากรผู้มีศักยภาพ อาศัยปัจจัยนำเข้าแพลตฟอร์มสองกลุ่มคือ กลุ่มรายเดี่ยวได้แก่ สถานประกอบการ คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา และกลุ่มองค์กรภาคีเครือข่ายได้แก่ องค์กรภาคเอกชน แหล่งทุน มหาวิทยาลัย และองค์กรภาครัฐ เป็นต้น โดยมีผู้ดำเนินการกลาง (Admin) เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ซึ่งมีหน้าที่ในการบริการให้คำปรึกษา การสร้างความร่วมมือ การช่วยจับคู่ (Matching) และเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคชุมชน ภาครัฐและแหล่งทุน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ผู้มีศักยภาพได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ทั้งนี้ อาจจะต้องมีการวิเคราะห์ทรัพยากรที่จำเป็น (Data) ในการเคลื่อนย้ายผู้มีศักยภาพไปใช้ประโยชน์ รวมถึง มีหน่วย TM Academy ซึ่งเป็นหน่วยที่ประกอบด้วยกลไกการพัฒนาผู้มีศักยภาพรุ่นใหม่ (New Talent) และการเคลื่อนย้ายบุคลากรไปปฏิบัติงาน (ฝังตัว) ในสถานประกอบการหรือชุมชนผ่านกลไก Pre-Talent Mobility หรือ Talent Mobility ดังภาพที่ 1

 

ที่มา: 1) โครงการศึกษาวิจัยเชิงนโยบายการพัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการทรัพยากรผู้มีศักยภาพ (Talent Resource Management) กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

       2) ข้อมูลสารสนเทศบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2563, https://info.mua.go.th, สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม


             ผู้แต่ง : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 

Nov 17, 2021