สอวช. ชงข้อเสนอมาตรการส่งเสริมกำลังคนศักยภาพสูงของประเทศไทย ชูมาตรการดึงดูดกำลังคนทักษะสูงจากต่างชาติเพื่อเร่งสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับไทย

สอวช. ชงข้อเสนอมาตรการส่งเสริมกำลังคนศักยภาพสูงของประเทศไทย ชูมาตรการดึงดูดกำลังคนทักษะสูงจากต่างชาติเพื่อเร่งสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับไทย

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565  สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เสนอความก้าวหน้าการศึกษานโยบายการพัฒนากำลังคนผู้มีศักยภาพสูงของประเทศ ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการศึกษา การเรียนรู้ และการพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ ครั้งที่ 3/2565 ผ่านระบบออนไลน์ 

โดยท่ามกลางสถานการณ์โลกปัจจุบันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ถูกเร่งรัดด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid 19) ในปีที่ผ่านมา รวมกับภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และการเข้าสภาวะสังคมสูงวัยของประชากรโลก ทำให้กำลังผู้มีศักยภาพสูงเป็นทรัพยากรที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องการ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ โดยประเทศไทยได้กำหนดหมุดหมายของประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 15 ปี มุ่งเน้นการลงทุนใน 6 อุตสาหกรรมสำคัญ ภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอน เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

จากผลการศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันของกำลังคนศักยภาพสูงในระบบ พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้กำลังศึกษาระดับอุดมศึกษา 1.89 ล้านคน โดยมีกลุ่มผู้เรียนที่มีแนวโน้มในการพัฒนาเป็นบุคลากรผู้มีศักยภาพสูง จำนวน 5 แสนคน เช่น กลุ่มนักเรียน Gifted กลุ่มผู้เรียนในระดับอุดมศึกษา และกลุ่นนักศึกษาต่างชาติ เป็นต้น ในส่วนของจำนวนกำลังแรงงานในปัจจุบันมีจำนวน 38 ล้านคน โดยเป็นแรงงานที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา ราว 10 ล้านคน กระจายตัวอยู่ในงานด้านวิชาการ 63%  วิชาชีพ 26% และวิชาการศึกษา 11% ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ 1.3 แสนคน กระจายตัวอยู่ในงานด้านบริหาร 51% งานด้านการศึกษา 22% และงานช่างเทคนิค 5% จากผลการวิเคราะห์ พบว่า ประเทศไทยมีบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนา จำนวน 1 แสนคน โดยประมาณซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

ภาพที่ 1 การวิเคราะห์สมรรถนะกำลังคนศักยภาพสูงในระบบ

ในส่วนของความต้องการกำลังคนศักยภาพสูง สอวช. ได้ทำการสำรวจสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ. 2563- 2567) พบว่า มีความต้องการบุคลากรสูงถึง 177,606 ตำแหน่ง โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการกำลังคนศักยภาพสูง 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ในขณะที่ศักยภาพของระบบการผลิตกำลังคนศักยภาพสูงของประเทศไทยยังคงมีช่องว่างและยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมได้เพียงพอ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกลไกในการผลิตกำลังคนศักยภาพสูงมากมาย เช่น ทุนรัฐบาล โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) โอลิมปิกวิชาการ เทคโนโลยีฐานวิทย์/ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งผลิตกำลังคนศักยภาพสูงได้เพียงหลักหมื่นคนต่อปีเท่านั้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้มาตราการใหม่ในการสร้างกำลังคนศักยภาพสูงอย่างเร่งด่วนเพื่อตอบโจทย์การลงทุนทางเศรษฐกิจในอนาคต

จากปัญหาข้างต้น ทาง สอวช. จึงได้ทำการศึกษาและเสนอข้อเสนอมาตรการส่งเสริมกำลังคนศักยภาพสูงของประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยยังขาดความเชี่ยวชาญและขาดแคลนบุคลากร รวมถึงการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการใช้ศักยภาพกำลังคนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมาตรการที่นำเสนอในที่ประชุมเป็นกลยุทธ์การสนับสนุน Brainpower จากต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 3 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการพัฒนากำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศจากผลการศึกษาทิศทางการลงทุนในประเทศไทยมุ่งเน้นให้เกิด Brain circulation โดยเริ่มจากกำหนดเป้าหมายหลักในการพัฒนาหรือเมกะโปรเจค จากนั้นกำหนดผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญ เพื่อร่างโครงการและเสนอของบประมาณจากกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดตำแหน่งงานและกำหนด Career path ที่ชัดเจน เพื่อดึงดูดกำลังคนศักยภาพสูงต่างชาติ

2. มาตรการกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวในอนาคต อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวในอนาคตเพื่อตอบสนองต่อการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม การนำเข้าและพัฒนากำลังคนในสาขาเฉพาะทางอย่างเร่งด่วนจึงเป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญในการตอบสนองความต้องการด้านกำลังคนศักยภาพสูงของภาคอุตสาหกรรม โดยเบื้องต้นการนำเข้ากำลังคนอย่างเร่งด่วนในระยะ 6 เดือน ถึง 1 ปี จะให้สิทธิประโยชน์ให้ทั้งผู้ประกอบการไทย/ต่างชาติที่มีการลงทุนในไทยมากกว่า 1,000 ล้านบาท/โครงการ เพื่อดึงดูดการลงทุน และผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติที่เข้ามาปฏิบัติงานในไทย โดยสิทธิประโยชน์ที่ผู้เชี่ยวชาญจะได้รับมีทั้งในรูปแบบเงินสนับสนุน ค่าครองชีพ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น Remote work Gig worker และยกเว้นภาษี เป็นต้น ตามศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญ

3. มาตรการสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมการทำงานของ Startup ประกอบด้วย

3.1 มาตรการส่งเสริมการทำงานของกำลังคนทักษะสูงในสาขาดิจิทัล มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เชี่ยวชาญทางด้านดิจิทัลที่เข้ามาทำงานในไทย เช่น ลดภาษี การให้ Long-term Visa การให้สวัสดิการ การทำธุรกรรมทางการเงินที่สะดวกและรวดเร็ว เป็นต้น ตลอดจนพัฒนากลไกIntermediary เพื่อส่งเสริมการจับคู่กำลังคนทักษะสูงกับสถานประกอบการ และสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก Digital Nomad

3.2 มาตรการส่งเสริมการทำงานของกำลังคนทักษะสูง พัฒนาระบบการจัดหากำลังคนทักษะสูง หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งไทยและต่างชาติ (Tech Talent Pool) เพื่อส่งเสริมการทำงานให้กับ Startup ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอมาตรการส่งเสริมกำลังคนศักยภาพสูงของประเทศไทย และให้ข้อเสนอแนะในเรื่องการกำหนดอุตสาหกรรมหลักที่จะผลักดันสู่การสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงสาขาที่ขาดแคลนกำลังคนศักยภาพสูง โดยเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างการกระจายรายได้และการจ้างงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย รวมถึงการศึกษากลไกเพื่อดึงดูดคนไทยศักยภาพสูงในต่างประเทศให้กลับมาทำงานในไทย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ข้อเสนอในเรื่องการประยุกต์มาตรการสิทธิประโยชน์ให้กับคนไทยที่มีศักยภาพสูง และให้ดำเนินการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่รายงานผลการศึกษาต่อไป

ที่มา : ที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการศึกษา การเรียนรู้ และการพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 

5 พ.ค. 2565